ภาพสัญลักษณ์ของไทย

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สัญลักษณ์ประจำชาติไทย

สัญลักษณ์ประจำชาติโดย รองศาสตราจารย์นฤมล ลี้ปิยะชาติ
ชื่อเรื่องในวันนี้ฟังแล้วก็เข้าใจได้ทันทีนะคะว่าเป็นเรื่องของสัญญลักษณ์ประจำชาติไทยของเรา ท่านผู้ฟังจะลองตอบดูไหมคะว่าสัญลักษณ์ประจำชาติไทยคืออะไร ท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะตอบว่าเรือสุพรรณหงส์ บางท่านอาจจะตอบว่าวัดพระแก้ว ฯลฯ ต่อไปนี้เราคงต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันแล้วค่ะว่า สัญลักษณ์ประจำชาติไทยคือช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ และศาลาไทย ท่านผู้ฟังอาจจะกำลังสงสัยว่าทำไมต้องเลือก 3 สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ สาเหตุที่เลือกช้างไทยด้วยเหตุผลที่ว่า กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร ได้เคยมีมติในการประชุมเรื่องกำหนดต้นไม้และสัตว์ประจำชาติ เมื่อพ.ศ.๒๕๐๖ ว่าให้กำหนดช้างเผือกเป็นสัตว์ประจำชาติ เพราะช้างเผือกเป็นสัตว์ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณีของไทย รู้จักกันแพร่หลายและมีอายุยืนนาน รวมทั้งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอให้วันที่ ๑๓ มีนาคม เป็นวันช้างไทยด้วย ส่วนดอกราชพฤกษ์นั้น ก็เป็นมติของกรมป่าไม้ในปีเดียวกันที่กำหนดให้ดอกราชพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำชาติ เพราะเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันแพร่หลาย สามารถขึ้นได้ทุกภาคในประเทศไทย มีทรวดทรงและพุ่มงาม ใช้ประโยชน์ได้มาก มีอายุยืนนาน และทนทาน มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของชาวไทย เป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลนาม และแก่นไม้ราชพฤกษ์ใช้ในพิธีสำคัญๆเช่น พิธีลงหลักเมือง ใช้เป็นเสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ทำคธาจอมพล และยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร และ เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา รวมทั้งสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติได้เคยเสนอโครงการส่งเสริมให้มีการปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศ จำนวน ๙๙,๙๙๙ ต้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ สำหรับศาลาไทยนั้น เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาช่างไทย และมีความสง่างามที่โดดเด่นจาก สถาปัตยกรรมชาติอื่น และเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสชื่นชมศาลาไทย นายกรัฐมนตรี(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)จึงลงนามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทยทั้งสามสิ่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ และให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้พิจารณาการออกแบบภาพสัญลักษณ์ประจำชาติไทยทั้ง ๓ สิ่ง โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบภาพช้างไทย ส่วนภาพดอกราชพฤกษ์และภาพศาลาไทยได้จัดให้มีการประกวด และต่อมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบภาพสัญลักษณ์ประจำชาติทั้ง ๓ สิ่ง ตามที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอมา สำหรับแนวคิดในการออกแบบและเลือกใช้สีของภาพสัญลักษณ์ที่ท่านผู้ฟังอาจจะได้พบเห็น มีดังนี้ ภาพช้างไทย ออกแบบโดยมีข้อกำหนดว่า เป็นช้างเผือก ขาก้าวเดิน มองดูสง่า มีงาใหญ่แข็งแรง มีลักษณะอวัยวะที่เป็นมงคล ๗ ประการคือ ๑.ตาสีขาว ๒.เพดานในปากขาว ๓.เล็บสีขาว ๔.ขนสีขาว ๕.พื้นหนังสีขาว หรือสีชมพูแดงคล้ายสีหม้อใหม่ ๖.ขนหางยาว ๗.อัณฑโกศขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ภาพดอกราชพฤกษ์ นายสวาสดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ออกแบบ ได้ให้แนวคิดในการออกแบบว่า ออกแบบเป็นภาพดอกราชพฤกษ์ช่อ แสดงให้เห็นลักษณะของดอกช่อที่ชัดเจน มีทั้งดอกตูม บาน ตามกาลเวลาของดอกที่เป็นจริงตามธรรมชาติที่บานไม่พร้อมกัน โดยเริ่มบานตั้งแต่ดอกแรกของโคนช่อไปจนสุดปลายช่อดอก มีใบแสดงให้เห็นบ้างเล็กน้อย ภาพศาลาไทย นายพงศกร ยิ้มสวัสดิ์ ผู้ออกแบบ ได้ให้แนวความคิดในการออกแบบภาพว่า เลือกใช้รูปแบบศาลาไทยในลักษณะงานสถาปัตยกรรมไทย ประเภทเรือนเครื่องสับ มีความสง่างาม และเป็นรูปสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีไมตรีจิตและความปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อผู้อื่น ใช้สีน้ำตาลกับโครงสร้างของเรือนไม้ ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาใช้สีน้ำตาลส้ม และมีส่วนปูนปั้นทาสีขาว พื้นหลังเป็นสีเขียว แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และความเป็นประเทศเกษตรกรรมของชาติไทย ส่วนฉากหลังเป็นสีฟ้า แสดงถึงท้องฟ้าที่สดใส และแสดงถึงความสดชื่นเบิกบาน ต่อไปนี้เราคงตอบได้ถูกต้องตรงกันนะคะว่าสัญลักษณ์ประจำชาติไทยคืออะไร และท่านผู้ฟังคงจะรู้สึกภูมิใจกับเอกลักษณ์และความเป็นไทยของเราร่วมกัน

เกร็ดพรรณไม้
ต้นไม้...ดอกไม้...ประจำชาติไทย

จากอดีตที่ผ่านมากว่า 50 ปี ทางราชการมีความพยายามหลายครั้งในการกำหนดให้มีสัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดยเฉพาะการกำหนด ต้นไม้ และ ดอกไม้ ประจำชาติ เริ่มต้นที่กรมป่าไม้ได้ชักชวนให้ประชาชนสนใจต้นราชพฤกษ์หรือคูณมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2494 โดยรัฐบาลมีมติให้ถือวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ (arbour day) มีการชักชวนให้ปลูกต้นไม้ที่มีประโยชน์ชนิดต่างๆ มากมาย ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเสนอว่า ต้นรา
ชพฤกษ์ น่าจะถือเป็นต้นไม้ประจำชาติ
กระทั่งในปี พ.ศ.2506 มีการประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรก โดยกรมป่าไม้ได้เสนอให้ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ ไม้มงคลที่มีประโยชน์และรู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นต้นไม้ประจำชาติ สำหรับสัตว์ประจำชาติก็คือ ช้างเผือก สัตว์ที่มีคุณค่าเกี่ยวข้องกับประเพณีไทยและประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน การเสนอครั้งนั้นไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยจึงมีหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่สำคัญๆ สัตว์ ดอกไม้ ที่คนไทยคุ้นเคยและพบเห็นบ่อย เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ เรือสุพรรณหงส์ ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกพุทธรักษา แมวไทย เช่นเดียวกับ ต้นราชพฤกษ์ และ ช้างเผือก ยังคงถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติตลอดมา
ปี พ.ศ.2530 มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์อีกครั้ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 99,999 ต้น ทุกวันนี้จึงมีต้นราชพฤกษ์อยู่มากมายทั่วประเทศไทย
ข้อสรุปเรื่องสัญลักษณ์ประจำชาติดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจน กระทั่งช่วงปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาเสนออีกครั้ง และมีข้อสรุปเสนอให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ สัตว์และสถาปัตยกรรม และการพิจารณาที่ผ่านมาเสนอให้กำหนดดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ ศาลาไทย
เหตุที่เลือก ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ เป็นดอกไม้จากต้นไม้ที่ถูกเสนอให้เป็นต้นไม้ประจำชาติเมื่อครั้งที่กรมป่าไม้เสนอไว้ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย มีชื่อเรียกหลายชื่อต่างกันในแต่ละภาค เช่น ลมแล้ง คูน อ้อดิบ ราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลใช้ประโยชน์ในพิธีสำคัญๆ เช่น ลงหลักเมือง ลงเสาเอก ทำคฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ในช่วงฤดูร้อนราชพฤกษ์จะออกดอกสะพรั่งทั้งต้น ช่อดอกมีรูปทรงสวยงาม สีเหลืองอร่ามเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเป็นสีเดียวกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้ความงามของช่อดอก และความหมายที่ดียังถูกจำลองแบบประดับไว้บนอินทรธนูของข้าราชการพลเรือนอีกด้วย

3 สิ่งใหม่.....สัญลักษณ์ประจำชาติไทย (Nation Identity) ในเวทีโลก

เคยเปิดอ่านหนังสือพิมพ์เจอสัญลักษณ์ใหม่ประเทศเราที่รัฐบาลเขาทำใหม่ แต่ก็นั่นแหละ.......ลืมไปเลย ว่าแล้วก็เหมาะเหม็งเมื่อวานไปอ่านเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ตามที่กำลังดังอยู่ในกระแสการเมืองไทยในทุกวันนี้ ร้อน ๆ หนาว ๆ ไปตาม ๆ กัน เปิดไปเปิดมาก็เจอเข้าจัง ๆ จนได้ ที่เว็ปธรรมะไทย ใครว่าง ๆ ก็ไปอ่านดู ความภูมิใจเล็ก ๆ ของเด็กแนว (แนวธรรมมะ รักชาติ)

ความว่า โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ว่า คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ การกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย (Nation Identity) 3 สิ่ง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งจะเป็นการ ช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น